head-mtwatsaischool
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ โรงเรียนมัธยมวัดไทรราษฎร์อุปถัมภ์
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2023 3:55 PM
head-mtwatsaischool
โรงเรียนมัธยมวัดไทรราษฎร์อุปถัมภ์
หน้าหลัก » นานาสาระ » หนูตกถังข้าวสาร

หนูตกถังข้าวสาร

อัพเดทวันที่ 6 ธันวาคม 2020

วิเคราะห์สุภาษิต หนูตกถังข้าวสาร โชดดีจริงไหม?

หนูตกถังข้าวสาร

หนูตกถังข้าวสาร หากพูดถึงความโชคดีแล้วแน่นอนว่า ต้องเป็นสิ่งที่ใครๆต่างปรารถนาอยากให้มีโชคดีเกิดขึ้นในทุกวัน และจากสุภาษิตที่กล่าวว่าหนูตกถังข้าวสาร ก็เป็นหนึ่งในสำนวนที่สะท้อนถึงเรื่องราวความโชคดีของชีวิตชายคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีฐานะชื่อเสียงอะไรมากนัก แต่โชคดีได้ไปพบรักแล้วแต่งงานกับผู้หญิงที่มีฐานะร่ำรวยกว่าตน เมื่อผู้เขียนได้วิเคราะห์ตัวสุภาษิตนี้เห็นว่ามีความไม่สมเหตุสมผลในหลายๆ เรื่องเริ่มจากปกติสำนวนสุภาษิตเป็น การใช้ถ้อยคำหรือประโยคต่างๆในการเปรียบเทียบเปรียบเปรย เพื่อให้เห็นภาพที่ต้องการสื่อได้อย่างชัดเจนขึ้น สำหรับ สุภาษิต ‘หนูตกถังข้าวสาร’ นี้ หากเป็นสมัยที่ผู้เขียนยังคงเป็นเด็กผู้เขียนจะตีความว่า เป็นสำนวนที่สื่อถึงว่า คนๆนั้นช่าง โชคดีเสียจริง เหมือนหนูตกถังข้าวสารเลย จะมีใครสักกี่คนที่ได้ยินสำนวนนี้ครั้งแรกแล้วรู้ได้เลยว่า ผู้แต่งต้องการสื่อความหมายถึง ผู้ชายยากจนซึ่งได้แต่งการกับผู้หญิงร่ำรวย เรื่องที่สองคือต่อให้เรารู้ความหมายแท้จริงของมันแล้วตัวความหมายและสุภาษิตกลับไม่ได้มีความหมายสอด คล้องกันเท่าไรนัก ในบทความนี้ผู้เขียนจึงได้แยกมาเป็นข้อๆว่าทำไมสำนวนสุภาษิตนี้จึงไม่สมเหตุสมผลและความหมาย ที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร

1.ทำไมถึงเป็นหนู

สำนวนนี้เปรียบเทียบผู้ชายยากจนว่าเป็นหนู ซึ่งนี่เป็นจุดแรกที่ผู้เขียนสงสัยว่าทำไมต้องเทียบแบบนั้น อาจเพราะด้วยลักษณะนิสัยของหนูที่เราสามารถพบได้ตามที่สกปรกหรือกองขยะ เพราะหนูมักจะไปคุ้ยหาเศษอาหารกินในที่นั้นๆด้วยภาพลักษณ์แบบนี้จึงไม่แปลกหากจะหาอะไรบางอย่างเพื่อสื่อถึงคนที่มีฐานะยากจน อดอยากไม่มีอาหารกินจนต้องคุ้ยกองขยะประทังชีวิตจนเนื้อตัวสกปรกมอมแมมเหมือนหนู

แต่เมื่อเราตีความอย่างที่ผู้เขียนคิดไว้ข้างต้น สุภาษิตนี้จึงควรมีความหมายว่า คนยากจนที่ได้แต่งงานกับคนที่มีฐานะสูงกว่า แต่อย่างที่เราทราบกันว่า หนูในสุภาษิตกลับสื่อถึงผู้ชายเพียงอย่างเดียวไม่นับรวมหญิง

ในประเด็นนี้เราจึงต้องพิจารณาถึงบทบาทของสังคมในสมัยก่อนประกอบด้วยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ในยุคที่ผู้ชายยังเป็นใหญ่อยู่ การที่เกิดมาเป็นชายแล้วมีฐานะตกต่ำย่อมเป็นเรื่องที่ใครๆต่างพร้อมจะหยามเหยียดกันทั่วทุกสารทิศมากกว่าผู้หญิงที่มีบทบาททางสังคมต่ำต้อยกว่า เรียกได้ว่ายิ่งสูงยิ่งหนาว ตกลงมายิ่งเจ็บ เป็นเรื่องไม่น่าแปลก ที่จะเรียกชายตกอับเช่นนี้ ว่า ‘หนู’ แล้วยิ่งได้รู้ว่าผู้ชายคนนั้นได้แต่งงานกับคนที่มีฐานะดีกว่าจนกลับมาเชิดหน้าชูตาเหนือคนอื่นได้ อาจทำให้ชาวบ้านรู้สึกอิจฉาจนเกิดเป็นสำนวนค่อนแซะว่า  ‘หนูตกถังข้าวสาร’

2.ทำไมถึงเป็นถังข้าวสาร

หากจะกล่าวถึงผู้หญิงสูงส่งด้วยถ้อยคำสั้นๆแล้ว สมัยก่อนมักนิยมเปรียบเทียบกับคำที่เกี่ยวกับดอกไม้ หมู่ดาว หรือพระจันทร์ แต่ทำไมสำนวนนี้กลับเลือกใช้ถังข้าวสารเปรียบเปรย

สำหรับผู้เขียนเองรู้สึกว่าแปลกดี ทำไมจึงเป็นคำนี้ แต่หลังจากพยายามคิดหลายครั้งก็พบกับข้อสนับสนุน

และข้อน่าสงสัยชวนสังเกตอยู่ไม่น้อย 

เริ่มจากลักษณะภายนอกที่เราเห็นได้จากข้าวสารและเหล่าหญิงสาวคือสีขาวจะเห็นได้ว่าเมล็ดของข้าวสารมีสีขาวและสีขาวเองก็ถูกใช้สื่อถึงความเป็นผู้หญิงได้ อย่างสีของพระจันทร์ที่ขาวนวลก็สื่อถึงผู้หญิงสวยงาม จึงเป็นไปได้ว่าที่เขาใช้เหตุผลนี้ เพื่อหยิบคำว่า ‘ข้าวสาร’ มาใช้ในเชิงสัญลักษณ์ว่าสื่อถึงผู้หญิง ประกอบกับความหมายของ ‘หนู’ จากข้อที่แล้วที่หมายถึงผู้ชายและเมื่อผู้ชายกับหญิงเป็นของคู่กัน การใช้คำว่า ‘หนู’กับ ‘ข้าวสาร’ จึงเป็นสิ่งที่เข้ากับได้ อย่างดีไม่ต่างกัน 

ประเด็นเรื่องข้าวสารยังไม่จบเท่านี้ เนื่องจากตัวสำนวนไม่ใด้ใช้คำว่า ‘ข้าวสาร’ อย่างเดียวแต่ใช้คำว่าถังข้าวสาร แล้วทำไมถึงต้องเป็นถังด้วย? หากใช้คำว่ากองข้าวสารหรือถุงข้าวสารก็ไม่น่ามีปัญหาตรงไหน ผู้เขียนคิดว่าคนคิดสำนวนต้องการแค่สื่อถึงข้าวสารขาวๆ ก็เพียงพอแล้ว บางคนอาจจะมองว่ามันไม่เห็นต้องไปคิดอะไรให้ลึกซึ้ง ‘ถัง’ อาจเป็นเพียง คำสร้อยเพื่อให้ประโยคมีความสละสลวย แต่ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปในสมัยก่อน แม้แต่ในปัจจุบันนี้การเก็บข้าวสาร เราก็มักจะใส่ไว้ในถังที่ปิดมิดชิดแล้ววางไว้ในบ้านเพื่อป้องกันแมลงมากินกันใช่ไหมครับ? แต่ถ้าเป็นพวกกองข้าวสาร หรือกระสอบข้าวสารมักจะอยู่นอกบ้านหรือโรงเก็บข้าวเป็นส่วนใหญ่ แตกต่างกับถังข้าวสารที่ถูกเก็บไว้อย่างมิดชิด ด้วยลักษณะแบบนี้ จึงสื่อถึงผู้หญิงในสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี เพราะเหล่าผู้หญิงสมัยก่อนจะมีค่านิยมความเป็นแม่บ้านแม่ศรีเรือนที่จะต้องอยู่แต่บ้านแทบตลอดทั้งชีวิต ไม่ต่างจากถังข้าวสารเลย

3.การตกถังข้าวสารโชคดีจริงหรือไม่?

แน่นอนว่าข้าวสารเป็นแหล่งอาหารที่ดีสำหรับหนูยิ่งได้อยู่ท่ามกลางข้าวสารจำนวนมากแล้วจะไม่เรียกโชคดีก็

คงไม่ได้ เพราะมีอาหารให้กินมากมาย เสมือนสมบัติที่ชายยากจนได้จากหญิงหลังแต่งงาน

แต่เมื่อเรานึกตามความเป็นจริงแล้ว ถ้ามีหนูบังเอิญไปตกถังข้าวสารที่ดันเปิดฝาอยู่ บางทีมันอาจทรมานอยู่ก็ได้เพราะไม่สามารถปีนขึ้นมาจากถังได้ และยิ่งอยู่นานไปนานๆมันอาจขาดน้ำจนตายในที่สุด แบบนี้คงเรียกโชคดีได้ยาก

หรือว่าความสำนวนนี้ไม่ใช่การบ่งบอกถึงความโชคดีของหนูอย่างเดียว อาจเป็นการเตือนภัยแก่ ‘ข้าวสาร’ก็ได้ ว่าถ้ามีหนูตัวหนึ่งสามารถตกลงไปในถังข้าวสารแล้วสามารถกลับขึ้นมาได้มันก็จะกลับมากินข้าวสารที่เดิมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งข้าวสารหมดไม่เหลือสักเม็ด สุดท้ายเมื่อไม่เหลืออะไรให้กินมันก็จะไม่กลับมาอีกเลย สำนวนสุภาษิตนี้ จึงเป็นการเตือนทางอ้อมว่าผู้ชายที่ไม่เอาไหน ในสภาพสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ย่อมต้องแสวงหาประโยชน์ไปเรื่อยๆ เหมือนหนูที่หาอาหารไปจนวาระสุดท้ายของชีวิตมัน หนูตกถังข้าวสารแท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงสำนวนที่ต้องการสื่อถึงความโชคดีของผู้ชายที่ได้แต่งงานกับผู้หญิงที่ร่ำรวยกว่าเท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปทัศนคติของสังคมจึงแตกต่างจากแต่ก่อนมาก สิ่งใดที่ดีก็ควรจะเก็บไว้ แต่อะไรที่ล้าหลังแล้วก็ต้องปรับตามกับไป ปัจจุบันผู้เขียนเองก็เคยเห็นคนรอบข้างใช้สำนวนนี้กับผู้หญิงที่ได้แต่งงานกับผู้ชายรวยเช่นกัน

นานาสาระ ล่าสุด
โรงเรียนมัธยมวัดไทรราษฎร์อุปถัมภ์
โรงเรียนมัธยมวัดไทรราษฎร์อุปถัมภ์
โรงเรียนมัธยมวัดไทรราษฎร์อุปถัมภ์
โรงเรียนมัธยมวัดไทรราษฎร์อุปถัมภ์