ความทรงจำเมื่อวันวาน ผมเกิดในสมัยเผด็จการทหาร สมัยนั้นผมเป็นเด็กผมไม่รู้สึกอะไรเรื่องการเมือง ผมไม่รู้ความหมายของ ประชาธิปไตย ไม่รู้ความหมายของเผด็จการ ผมเป็นเพียงเด็กที่เกิดขึ้นมาในรัชกาลที่ 9 ตอนที่ผมเกิดมีนายกชื่อจอมพลถนอม กิตติขจร รองนายกชื่อจอมพลประภาส จารุเสถียร ผมรู้แค่ว่าพ่อผมเป็นข้าราชการ แม่ผมเป็นแม่บ้าน ป้าผมเป็นครู อาผมเป็นอาจารย์ อาอีกคนเป็นตำรวจ ปู่กับย่าเป็นคนแก่ เราอยู่บ้านสวน เราไปตลาด ไปวัด ไปโรงเรียน ตามปกติ วันหยุดบางครั้งอาของผมไปดูหนังบ้าง ไปงานกาชาดบ้าง บางครั้งพ่อก็พาขับรถไปเที่ยวทะเลกัน
ผมใช้ชีวิตวัยเด็กตามปกติไม่เห็นมีใครมาข่มขู่คุกคาม ไม่เห็นมีใครมาห้ามไม่ให้ไปไหน ผมจึงไม่รู้สึกว่าการอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการจะมีผลกระทบกับชีวิตผม ผมทราบแต่ว่าจอมพลถนอมสืบทอดอำนาจมาจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ยึดอำนาจมาจากจอมพล ป.พิบูลย์สงครามเพราะคุณอาผมเล่าให้ฟัง ญาติๆ ผมก็ยังคุยให้ฟังบ่อยๆ ว่าอยากให้บ้านเมืองเราเป็นเหมือนสมัยสฤษดิ์จะได้จับพวกโจรผู้ร้ายพวกนักเลงกวนเมืองมายิงเป้าให้หมด
สาเหตุที่จุดชนวน
ผมมาทราบภายหลังว่าภายใต้เผด็จการประเทศเราไม่มีเลือกตั้ง ประชาชนหมดสิทธิ์ทางการเมือง ผมจึงมาศึกษาประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์นี้จึงทราบว่า เหตุการณ์ที่เป็นชนวนของ 14 ตุลา 2516 น่าจะมาจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่บางเลน นครปฐม ภายในเครื่องพบซากกระทิงหลายตัว นายทหารและพ่อค้าหลายคนใช้เฮลิคอปเตอร์ลำนี้ไปล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกหนังสือที่เปิดโปงเกี่ยวกับเหตุการนี้ ภายหลังมีนักศึกษารามคำแหงออกหนังสือเช่นกัน หนังสือของนักศึกษารามเล่มนี้กล่าวกระทบนายกถนอมด้วย เป็นเหตุให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงเอาชื่อนักศึกษาเหล่านี้ออกจากการเป็นนักศึกษา ทำให้นักศึกษาและประชาชนไม่พอใจมีการประท้วงจนต่อมานำไปสู่การชุมนุมใหญ่
เรียกร้องรัฐธรรมนูญ
ความไม่พอใจของประชาชนนำไปสู่การลงชื่อขอเรียกร้องรัฐธรรมนูญโดยบุคคลทุกสาขาอาชีพจำนวนนับร้อยคน มีการนำใบปลิวไปแจกโดยการนำของนายธีรยุทธ บุญมี รัฐบาลสั่งจับคณะผู้มีส่วนกับการแจกใบปลิวรวม 13 คน ภายหลังเรียกกันว่า 13 กบฏรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ นำไปสู่การชุมนุมประท้วงโดยเริ่มที่ธรรมศาสตร์ก่อน เรียกร้องขอให้ปล่อยบุคคลกลุ่มนี้ แต่รัฐบาลไม่ยอมปล่อยตัว
รัฐบาลสั่งปราบประชาชน
วันที่ 13 ตุลาคม 2514 การเดินขบวนจึงเกิดขึ้นจากนักศึกษาและประชาชนจำนวนหลายแสน ไปบนถนนราชดำเนินและเดินต่อไปลานพระบรมรูปทรงม้า แม้ว่าต่อมารัฐบาลยอมปล่อยคณะ 13 คน และสัญญาว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จในหนึ่งปี ประชาชนส่วนใหญ่ทะยอยเดินทางกลับเหลืออยู่จำนวนหนึ่งนำโดยนายเสกสรร ประเสริฐกุล นายเสกสรรจึงนำประชาชนตรงไปพระราชวังสวนจิตรเพื่อขอเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
วันที่ 14 ตุลาคม 2514 นายเสกสรรนำนักศึกษาประชาชนกลุ่มใหญ่มาถึงพระราชวังสวนจิตร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงขอให้นักศึกษาประชาชนสลายตัวโดยรับสั่งผ่านทางผู้แทนพระองค์ นักศึกษายอมตกลงแล้ว แต่ปรากฏว่าทางรัฐบาลกลับสั่งให้ทหารตำรวจปราบประชาชนอย่างรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากสร้างความโกธรแค้นให้กับประชาชนจนมีผู้ออกมาร่วมประท้วงอีกจำนวนแสนโดยมารวมตัวกันที่ธรรมศาสตร์
ใต้ร่มจิตรลดา
ในเวลานั้นกลับมีความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างนักศึกษาประชาชนกับตำรวจทหารบริเวณหน้าสวนจิตร นักศึกษาประชาชนส่วนหนึ่งหนีเข้ามาภายในพระราชวัง โดยในหลวงทรงสั่งให้ข้าราชการเปิดประตูให้เข้ามาและทรงไต่ถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและให้ความช่วยเหลือนักศึกษาประชาชนเหล่านั้น เหตุการณ์นี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง
นายกรัฐมนตรีลาออก
ในที่สุดจอมพลถนอมยอมลาออกจากตำแหน่ง พระเจ้าอยู่หัวทรงตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทรงเรียกเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ว่าเป็นวันมหาวิปโยค เนื่องจากทรงเห็นประเทศชาติได้รับความสูญเสียมีการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนจำนวนมาก ภายหลังจอมพลถนอม, จอมพลประภาสและพันเอกณรงค์ ลูกชายจอมพลถนอมเดินทางหนีออกจากประเทศ เหตุการณ์จึงเริ่มเย็นลง ต่อมาทั้งสามคนได้รับการเรียกชื่อว่าสามทรราชย์
หลังเหตุการณ์วันนั้นมีการตั้งสภาร่างรัฐธรมนูญขึ้นมาจากบุคคลหลากหลายส่วน เพื่อให้มาร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญที่สนามม้านางเลิ้ง
บทเรียนที่ประเทศชาติได้รับ
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตเกือบ 80 คน มีผู้บาดเจ็บอีกเกือบ 900 คน อาคารหลายหลังบริเวณถนนราชดำเนินถูกเผาเสียหาย ประเทศชาติได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้านความเชื่อถือจากต่างประเทศ มีผู้ได้รับบาดแผลทางจิตใจมาจนถึงทุกวันนี้ มันกระทบถึงความน่าเชื่อถือทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและความรู้สึกของประชาชนในชาติและเป็นจุดเริ่มต้นของการหนีเข้าป่าของบรรดานักศึกษาเพื่อไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์
บทสรุปของความรู้สึก
วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ผมยังเป็นเด็กอายุ 12 ปี เฝ้าอยู่หน้าจอโทรทัศน์กับญาติพี่น้อง ได้รับรู้เหตุการณ์จากโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์ ผมยังคงไม่มีความรู้สึกร่วมอะไรมากนักเนื่องจากผมยังเป็นเด็กอยู่มาก ไม่เข้าใจว่าพวกเขามาทำอะไรกันผมสังเกตเห็นความตระหนกตกใจและความกังวลในสีหน้าและแววตาของผู้ใหญ่ ทำให้ผมพลอยใจเสียไปด้วยแต่มันก็เพียงแค่นั้น เวลานั้นโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ยังไม่กล้าเสนอความเป็นจริงทุกอย่างเพราะตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาล ผมสังเกตว่าพวกเขาเข้าข้างรัฐบาลมากกว่าและว่าร้ายต่อนักศึกษาประชาชนตลอด จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีลาออกพวกเขาจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงท่าทีในการเสนอข่าว
ต่อมาเมื่อผมมีอายุมากขึ้นความที่ผมเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ผมจึงศึกษาเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 จากหนังสือบันทึกเหตุการณ์และความรู้สึกของบุคคลที่มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในเหตุการณ์เพื่อนำมาวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ทำให้ผมสะเทือนใจอย่างมาก ผมเห็นใจผู้คนในเวลานั้นที่ถูกกดโดยอำนาจเผด็จการมาโดยตลอดยี่สิบกว่าปี นับตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจและสืบทอดอำนาจต่อมาจนถึงยุคถนอมประภาส แต่พิษสงของจอมพลถนอมก็ยังไม่หมดลง ภายหลังเขาขอกลับเข้าประเทศไทยและสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอีกจนนำไปสู่ความรุนแรงในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในเวลาต่อมา
แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะผ่านมาเกือบห้าสิบปีแต่ประชาธิปไตยของประเทศไทยเราก็ยังไม่แข็งแรงเสียที ยังมีการโกงการทุจริตยังมีเผด็จการทางสภาโดยนักการเมือง จนทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกหลายครั้งเหมือนเป็นวงจรอุบาทว์ ผมจึงสรุปว่าผมรู้สึกสงสารประเทศไทยของเรามากที่สุด